เด็กโควต้า EP1
เนื่องจากอยู่ในการเลี้ยงดูของคุณปู่คุณย่าตั้งแต่เด็กๆ ถึงแม้นว่าจะเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ก็ย้ายนิวาศสถานมาอยู่ที่บ้านดอน ศรีเสริมกสิกร ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน พี่ๆ น้องๆ ของคุณพ่อจำนวน 7 พี่น้อง ก็จะจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชาย หรือ หญิง ประจำจังหวัดน่าน (สมัยก่อนเค้าแยกโรงเรียนหญิง โรงเรียนชาย ส่วนโรงเรียนสหศึกษา พึ่งมาทีหลัง) แล้วได้โควต้าเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความทรงจำก็จะมีแต่ว่าจบมัธยมแล้วก็สอบโควต้าเข้า มช.
สมัยเด็กๆ ที่บ้านสอนให้ทำมาหารายได้ก็เดินขายพวงมาลัยข้างถนน ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เดินไปทุกตรอกทุกซอยทุกถนนในเทศบาลเมืองน่าน ก็จะรับทราบว่า แต่ละบ้านก็จะส่งลูกหลานไปเรียนที่ มช. กันทั้งเทศบาล ดังนั้น ไม่เคยมีความทรงจำอื่นใดที่จะเปลี่ยนใจว่า ไม่มาเรียนที่ มช. เลยครับ
Science Camp รุ่นที่ 2
ครั้นตอนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนขึ้นปีที่ 4 ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน คุณครูแนะแนวมาชวนให้สมัครเข้าค่ายฝึกอบรมวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ 2 (2nd CMU Science Camp) ซึ่งรับสมัครนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาภาคเหนือตอนบน โรงเรียนละ 2 คน ก็ได้รับเลือกจากคณะวิทยาศาสตร์ให้ไปเข้าค่ายฯ ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมของทุกๆ ภาควิชา รู้จักพี่เลี้ยง คณาจารย์ ได้รับทราบว่าแต่ละภาควิชาทำอะไรบ้าง "ทราบแบบงงๆ" และได้ไป field trip ของภาคธรณีวิทยาที่ลำปางด้วย อาจารย์และพี่เลี้ยง พาไปหาฟอสซิล ประเภท/ชนิดหนึ่ง แบบว่า คืออะไรฤา..... ดังนั้น เป้าหมายเปลี่ยนไป และเริ่มชัดเจนขึ้น ว่าคงจะต้องเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะทางสายสุขภาพ เพราะตัวเองยังชอบเรียนชีววิทยา ดังนั้นก็ไม่ได้เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ แน่นอน..... ตอนเข้าปี 1 ได้ เพื่อนๆ หลายคนก็สอบถามว่า.. ทำไมรู้จักรุ่นพี่หลายคน.... ก็พี่เลี้ยง Science Camp ตอนนั้นก็กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 พอเราเข้าปีที่ 1 ก็ทันกันพอดี ก่อนที่พี่ๆ จะสำเร็จการศึกษา....
เด็กโควต้า EP2 และการลงทะเบียนเรียนของเด็กปี 1
เมื่อถึงเวลาสมัครสอบโควต้า ก็ปรึกษาคุณครูแนะแนว แอบสอบถามคุณครูที่สอนเคมีในชั้น ม.6 (อาจารย์หงษ์ซึ่งเป็นคุณพ่อของอาจารย์บุ๋ม รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม) ว่าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ แล้วไปทำงานอะไรได้บ้าง (สร้างความมั่นใจว่าจบมาแล้วมีงานทำ โดยที่ไม่อยากไปเป็นครู เพราะที่บ้านเป็นครูทั้งบ้าน ตั้งแต่คุณย่า คุณป้า คุณอาผู้หญิง คุณอาผู้ชาย) สรุปได้เข้าเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัส 28056142
เป็นการเดินทางออกจากบ้านจังหวัดน่าน มาอยู่หอพักนักศึกษาชาย หอ 4 ห้อง 401 เป็นระยะเวลา 4 ปี 1 ภาคฤดูร้อน (มาทราบทีหลังว่าท่านอาจารย์แม่บ้านหอ 4 ชาย เป็นเพื่อนเรียนกับคุณป้า.... ถึงว่าที่บ้านที่น่าน ทราบพฤติกรรมเราตลอด....) ที่งงๆ ต่อมา คือการลงทะเบียนเรียนของเด็กปี 1 ที่อาคารเรียนรวม (ตึก RB) วิ่งสู้ฟัดมากๆๆ กว่าจะได้ลงทะเบียนครบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ 191 ที่จะต้องเลือก section ให้ดีๆ เดี๋ยวจะเรียนตัวคณะไม่ทัน..... งานนี้ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ปรึกษาและรุ่นพี่ทุกๆ คน นะคร้าบ.... ตั้งใจช่วยกันมาก
ปี 2 เลือกวิชาเอก (Major)
ผ่านชั้นปีที่ 1 ไปแบบงงๆ พอจะเลือกเมเจอร์ ก็เลือกยากเข้าไปอีก มี 2 เหตุผล คือ มีพี่รหัสเป็นนักธรณีวิทยา ชื่อพี่ปัท (ปัทมา) แล้วอาจารย์เบิ้ม (รศ. ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์) ก็เล่นบาสเกตบอลโอเพ่นด้วยกัน และพอจะทราบว่าตัวเองชอบเรียนเคมี (เปลี่ยนใจจากชีววิทยาในสมัยมัธยม เนื่องจากไปค้นพบตนเองในการสอบแล็ปกริ้ง ใจไม่ได้เลยครับ.... มีใครยังจำได้ไหมครับ เพื่อนๆ นักศึกษาหญิงหลายคน เก่งกว่านักศึกษาชายมากๆ ใจสู้กันจุงเบย..)
จุดตัดสินใจ คือ ป้ายรับสมัครงาน 2 อัน ที่ติดอยู่ในบอร์ดชั้นล่าง อาคารเคมี 1 อันแรกระบุว่า “จบธรณีวิทยา ไม่จำกัดเกรด รายได้เดือนละ 5,000 บาท ทำงานที่....” อันที่สอง ระบุว่า “จบเคมีอุตสาหกรรม เกรดตั้งแต่........ ขึ้นไป ทำงานที่ระยอง รายได้เดือนละ 6,000 บาท” ด้วยความงก ก็เลยเลือกเรียนภาควิชาเคมี แล้วต้องไปลุ้นต่ออีกนะครับ ว่าขึ้นปีที่ 3-4 จะแยกไปเรียน Plan B ได้หรือไม่ ..... ความพิสดารของการจะได้เรียน Plan B ก็จะต้องมีภาคต่อไป.... ก็น่าจะเปิดเผยลำบาก..เกรงใจคร้าบ
จบและทำงานอย่างไร
ตามความตอนที่แล้ว ปีที่ 3 ก็ได้เรียน Plan B สมใจ ก็เรียนไปตามเนื้อหา แต่มีอุปสรรคที่ไปติด F ตัวต้นสายรายวิชาหนึ่ง (ต้องกราบขอโทษท่านอาจารย์นิภาพันธ์ มอลลอย เป็นอย่างสูงนะครับ แต่ก็เป็นบทเรียนหนึ่งในชีวิตการศึกษาของผม ที่ตั้งอยู่ในความประมาท เห็นแก่เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในห้องเรียน) ดังนั้นการดิ้นรนในชีวิตเริ่มเกิดขึ้น โชคดีมากๆ ที่ท่านอาจารย์ รศ. ดร. อนันต์เสวก เห่วซึ่งเจริญ ได้กรุณาเป็นซัมเมอร์ให้ (มีลงทะเบียนเรียน 4 คน อิอิๆ จบ 4 ปี 1 ซัมเมอร์)
ได้ไปทำงานที่ระยองดังประสงค์ (สอบสัมภาษณ์ผ่านได้งานตั้งแต่เดือนธันวาคม มาลุ้นจบเอาเดือนพฤษภาคม ปีถัดไป .... ชีวิตที่ทำตัวเอง) ก็ไปทำงานที่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพรลีโพไพลีน (PP) ปีแรก ก็ต้องไปนั่งเรียนกระบวนการผลิตที่เป็นเรื่องไหม แต่พื้นฐานที่เรียนมาก็สามารถประยุกต์และทำความเข้าใจได้ดีขึ้น
ได้มีส่วนร่วมในการทดลองเดินเครื่องจักร (Commissioning) กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ก็ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่ได้เรียนมา (English 191, 192, 291) ได้ใช้ความรู้ unit operation, distillation column, etc. ..พึ่งรู้ว่าเรียนไปทำไม....
ประสพความสำเร็จในการทำงานหรือไม่
ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต เคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นใบเบิกทางแรก ที่ทำให้ได้เข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ (TPI) ที่จังหวัดระยอง ปูมชีวิตการเดินทางไกลจากเด็กโควต้าของจังหวัดน่าน ตอนที่ 2 ได้เริ่มแบบมีชีวิตชีวามากขึ้น
ผมได้พบว่า ยังมีเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เรียนหลักสูตรคล้ายๆ กัน อาจจะเรียกตนเองว่า วิดวะเคมี เคมีอุต เคมีเทคนิค เป็นต้น เค้าก็นึกว่า เคมี มช. ที่เราจบมา คือเคมีธรรมดา แต่สุดท้ายพวกเราประมาณ 100 คน (เป็นเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัยที่ไปอยู่ระยอง ทำงานที่เดียวกัน มาตั้งแต่ปี 2532 มากกว่า 35 ปี เป็นเพื่อนกัน) ก็แยกย้ายกันเจริญเติบโตในหน้าที่การทำงานในโรงงานต่างๆ ทั้งในระยองและจังหวัดใกล้เคียง
เพื่อนๆ เคมีในรุ่นทั้ง Plan A & B ที่มาทำงานที่ระยองก็ประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารองค์กรและหน่วยงานกันทุกคน เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ว่า หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณทิต ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสามารถแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
สัพเพเหระ
ผมเป็นเด็กกิจกรรม เช่น เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของคณะฯ ของมหาลัย (โบว์ลิ่งด้วยนะครับ) และของจังหวัดต่างๆ เช่น น่าน เชียงใหม่ ระยอง ศรีสะเกษ (แล้วแต่โค้ชจะพาไป) เป็นการหารายได้เสริมจากการเป็นนักกีฬา (ถ้าได้แชมป์ก็อู้ฟู่ ทำให้ไปรบกวนชีวิตนักศึกษาดังกล่าวไว้ว่า “เกือบไม่จบ” เป็นประธานหอพักนักศึกษาชาย หอ 4 (4 ปี ต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่เล่ามานะครับ) เป็นนักว้ากเกอร์ตอนรับน้อง ฯลฯ
ขอบคุณพระคุณครูบาอาจารย์
ขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์ ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ของคณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างปี 2528 - 2532 ทุกๆ ท่าน (ไม่สามารถจะเอ่ยนามได้ทุกๆ ท่าน แต่ก็แอบเอ่ยนามไปหลายท่านแล้ว) การเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ การเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับคำแนะนำ คำสอน ให้ผมสามารถเป็นผมมาได้ทุกวันนี้ ความสำเร็จที่ได้รับในชีวิต เป็นความกรุณาที่มีให้ผมและครอบครัวครับ
ความภูมิใจ รักและผูกพัน พูดได้เต็มปากกับทุกคนว่า ที่ประสพความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะ “ผมจบมาจาก วิดยา มช. ครับ”
นายพร้อมพร อิศรางกูร ณ อยุธยา
ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานปฏิบัติการผลิต (Vice President : Operations)
บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) (บริษัทในกลุ่ม ปตท.)
MB/Line: 091-880-9222, E-mail: Phromphron.i@gmail.com
วุฒิการศึกษา
2532 ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมีอุตสาหกรรม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2547 ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ (บริหารทรัพยากรมนุษย์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ตำแหน่งอื่นๆ
2562 – ปัจจุบัน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิอิศรางกูร
2564 – ปัจจุบัน กรรมการ มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆษิตาราม
2564 – ปัจจุบัน ผู้ตรวจประเมินภายนอกการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต เลขที่ I -0290 (ด้านวิศวกรรมและกระบวนการผลิต และด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2564 – ปัจจุบัน คณะทำงานปรับปรุงแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อความร้อนและภาชนะรับแรงดันในโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม
2564 – ปัจจุบัน ประธานคณะทำงาน พัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และการพัฒนา Circular Model จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (CMH: Circular Material Hub) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2564 – ปัจจุบัน กรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2566 – ปัจจุบัน นายกสมาคมนักศึกษาเก่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประวัติการทำงาน
2553 – 2558 ผู้จัดการส่วนบริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (QSHE) บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด (PTT Phenol)
2558 – 2562 ผู้จัดการส่วนงานบริหารระบบการจัดการคุณภาพ (QM) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)
2563 – 2564 ผู้จัดการส่วนบริหารการผลิตที่เป็นเลิศ (Operational Excellent:) บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC)
2565 – ก.ค. 2566 ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานวิศวกรรมและซ่อมบำรุง (Vice President : Engineering and Maintenance) บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC)
ประวัติอื่นๆ
2558 – 2561 กรรมการสมาคมศิษย์เก่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2564 – 2565 อุปนายกสมาคมนักศึกษาเก่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความเชี่ยวชาญ
1. การจัดการสารเคมี (Chemical Management) และการจัดการกากของเสียอันตราย (Hazardous Waste Management)
2. แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และการพัฒนา Circular Model จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (CMH: Circular Material Hub)