1. ช่วงตั้งหลัก เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่า เกิดขึ้นในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ.2563 ซึ่งสถานการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชิวิตของมนุษยชาติทั่วโลก ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนเปลี่ยนแปลงมาสู่ไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยการอบโอโซนทุกอาคารในคณะวิทยาศาสตร์ ในทุกๆ ห้อง เช่น ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ หัองประชุม และทุกๆ สถานที่ที่ใช้ในการทำกิจกรรมการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานของบุคลากร พร้อมทั้งให้การติดตามช่วยเหลือทั้งนักศึกษาและบุคลากรที่ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด การให้บริการนักศึกษาและบุคลากรของคณะในช่วงเวลานี้เป็นการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
ในขณะที่เกิดสถานการณ์นี้ยังอยู่ระหว่างการเรียนการสอนของภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ทางคณะได้พยายามปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมและสอนให้จบเร็วที่สุด โดยกระบวนวิชาบรรยายได้ขอให้ผู้สอนพิจารณาปรับเนื้อหาให้กระชับและครอบคลุมสาระสำคัญ โดยให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์เท่านั้น ส่วนกระบวนวิชาปฏิบัติการหรือฝึกปฏิบัติได้ขอให้ผู้สอนปรับเนื้อหาเพื่อฝึกปฏิบัติการเฉพาะหัวข้อที่จำเป็นและเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ในทุกกระบวนวิชาหากมีเนื้อหาเพิ่มเติมสามารถจัดทำสื่อการสอนแบบออนไลน์ให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ในส่วนวิชาสัมมนาให้ดำเนินการสัมมนาทางออนไลน์หรือหากจำเป็นต้องจัดสัมมนาในชั้นเรียน ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด สำหรับการวัดและประเมินผลกระบวนวิชา ทางคณะขอให้หลีกเลี่ยงการสอบที่นักศึกษาต้องเดินทางเข้ามาที่มหาวิทยาลัย โดยสามารถวัดผลได้จากคะแนนหรือหลักฐานอื่นๆ เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น
ในส่วนของกระบวนวิชาในภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2562 ให้จัดการเรียนการสอนภาคบรรยายเป็นแบบออนไลน์เท่านั้น และให้เปิดสอนเฉพาะกระบวนวิชาที่จำเป็น สำหรับการฝึกงานหรือฝึกสหกิจศึกษาในภาคฤดูร้อน ได้มีแนวปฏิบัติ คือ ให้เลื่อนไปก่อน กรณีที่เลื่อนไม่ได้ให้สามารถดำเนินการตามกำหนดเดิม แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการของสถานประกอบการ อย่างเคร่งครัด และสามารถพิจารณาปรับลดระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม กรณีเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ขึ้นไปสามารถเปลี่ยนแผนการเรียนจากแผนสหกิจศึกษามาเป็นแผนปกติได้ ในส่วนของการฝึกปฏิบัติภาคสนามหรือดูงานในภาคฤดูร้อน ได้มีแนวปฏิบัติคือ พิจารณาเลื่อนกำหนดการออกไปก่อน โดยช่วงเวลาใหม่ อาจอยู่ในเดือนตุลาคม 2563 หรือภาคการศึกษาถัด ๆ ไป กรณีที่ไม่สามารถเลื่อนได้ ให้ตรวจสอบกับเจ้าของพื้นที่และสถานประกอบการ อย่างระมัดระวังรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นสำคัญ และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของเจ้าของพี้นที่และสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด การสอบวัดคุณสมบัติ สอบประมวลความรู้ สอบปกป้องปริญญานิพนธ์และปัญหาพิเศษหรือการค้นคว้าอิสระ ให้ดำเนินการทางออนไลน์ เพื่อไม่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกต้องรับความเสี่ยงในการเดินทางมาสอบ กิจกรรมเสริมหลักสูตร การจัดค่าย การจัดอบรม และการสอบคัดเลือกต่างๆ ได้ขอให้งดเว้นไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
รูปที่ 1 การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องเรียน
รูปที่ 2 การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องปฏิบัติการ
รูปที่ 3 การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้อง Co-working Space
2. ช่วงการเรียนการสอนแบบ Hybrid พฤษภาคม – ธันวาคม 2563
ภายหลังจากที่ตั้งหลักได้แล้ว คณาจารย์และนักศึกษาเริ่มปรับตัวได้กับการเรียนการสอน การสอบ แบบออนไลน์ภายใต้สถานการณ์และข้อจำกัดต่างๆ ก็เข้าสู่ช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 และในช่วงเวลานี้เองทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานหรือแบบ Hybrid โดยสามารถผสมกันได้ระหว่างการสอนแบบ Onsite และ Online ตามความสะดวกของแต่ละกระบวนวิชา สำหรับกรณีที่มีการเรียนแบบ Onsite ได้มีมาตรการเรื่องการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย และการใช้เจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าห้องเรียน สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างสูง เพราะนอกจากการเรียนการสอนแล้ว ยังมีกิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก นั่นคือการจัดการด้านการสอบ โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ซื้อสิทธิ์ Zoom Pro เพื่อให้อาจารย์ทุกคนใช้ในการสอน และยังได้จัดเตรียมระบบระบบบริหารจัดการการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ (Learning Management System) ได้แก่ KC Moodle (CMU E-learning) และ CMU Exam Moodle เพื่อใช้ดำเนินการด้านจัดการสอนและการสอบ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ยังประยุกต์ใช้ระบบที่มีบริการอยู่แล้วเช่น Google Form มาใช้ในการจัดการสอบในบางกระบวนวิชา รวมไปถึงใช้ในกระบวนวิชาที่มีนักศึกษาลงทะเบียนมากถึง 2,000 คน ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้การเรียนการสอนในคณะวิทยาศาสตร์สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในช่วงเวลานี้มาได้
นอกจากนั้นหลายกระบวนวิชาของคณะวิทยาศาสตร์ยังเริ่มเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเรียนการสอนแบบ Online 100% โดยเฉพาะวิชาที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเรียนการสอนจึงได้มีการจัดทำสื่อการสอน Online ที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถศึกษาด้วยตนเองในทุกที่ ทุกเวลาที่นักศึกษาสะดวก
รูปที่ 4 การสอบแบบ Onsite
รูปที่ 5 War Room ควบคุมการสอบ Online กระบวนวิชา 204100 ในเทอม 1/2563 ที่มีนักศึกษาลงทะเบียน 2,000 คน
รูปที่ 6 การอัดคลิปการสอนของอาจารย์เพื่อจัดทำสื่อการสอน Online
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ก่อตั้ง “วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต” หรือ CMU School of Lifelong Education” ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเพื่สนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ที่มีรูปแบบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด “เพราะทุกคนคือผู้เรียน” โดยจัดให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เช่น การเรียนการสอนแบบ Massive Open Online Course หรือ MOOC รวมถึงคอร์สเรียนที่พัฒนามาจากเนื้อหาในชั้นเรียน เช่น โครงการเลขจั๊ดง่ายสไตล์ มช. (Math’s Just Easy) ซึ่งได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนแคลคูลัสลงในเว็บไซต์แบบออนไลน์ และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าเรียนได้ รวมถึงเปิดให้ผู้เรียนที่มีความพร้อมสอบเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ หรือหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ที่คณะวิทยาศาสตร์มีส่วนร่วม เช่น หลักสูตร Data Science from Zero to Hero โดยโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาการข้อมูล ตลอดจนหลักสูตรการฟื้นฟูป่าของศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ จากการกำเนิดพันธกิจเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ นำมาซึ่งการเริ่มต้นการบริหารจัดการภายในคณะวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยมีการรับผิดชอบงานบริหารด้านนี้โดยเฉพาะ คือ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสหกิจศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 เป็นต้นมา
รูปที่ 7 สื่อการสอน Online
3. ช่วงการเรียนการสอนแบบ Online 2564
หลังจากช่วงปิดภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ช่วงนี้เป็นช่วงระบาดหนักของโควิด-19 เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนด "มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด" ขอให้ประชาชนงดออกจากเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยมีคำสั่งให้บุคลากรทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และมีคำสั่งให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบ Online 100% เริ่มต้นตั้งแต่กิจกรรมปฐมนิเทศ กิจกรรมการเรียนการสอน การสอบ และกิจกรรมอื่น ๆ เรื่อยไปจนถึงกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ โดยทางมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้มีการใช้งาน MS Teams สำหรับเป็น First Contact Point ระหว่างอาจารย์และนักศึกษา และยังได้จัดเตรียม Canvas ให้ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมขึ้นมานอกเหนือจาก MS Teams ในส่วนการจัดการสอบได้มีการใช้งานเครื่องมือต่างๆ เช่น ใช้ CMU Exam Moodle เพื่อจัดการข้อสอบและดำเนินการสอบ ใช้ Zoom Poctored Exam สำหรับคุมสอบ ใช้ Safe Exam Brower สำหรับลดการทุจริตในการสอบด้วยการล็อคหน้าจอ ใช้ Online Exam Manager เพื่อบริหารการสอบ และ CMU Online Grading เพื่อตัดเกรดและส่งเกรดไปยังสำนักทะเบียน
นอกเหนือไปจากเครื่องมือที่กล่าวมาข้างต้นยังมีการใช้งานเครื่องมืออื่น ๆ ตามความถนัดของผู้สอน เช่น Zoom, Google Meet, Google Classroom, Facebook Live เป็นต้น นอกจากการให้บริการการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแล้ว คณะวิทยาศาสตร์ยังให้บริการวิชาการในรูปแบบอื่น ๆ สำหรับ Upskill, Reskill และ Newskill โดยดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ Online 100% ได้แก่ การให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น CMU MOOC หลักสูตรการอบรมระยะสั้น เปิดกระบวนวิชาเรียนร่วม เปิดการเรียนการสอนหลักสูตร Non degree ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่
รูปที่ 7 การปฐมนิเทศนักศึกษาผ่าน Facebook Live
รูปที่ 8 การเรียนการสอนผ่าน Zoom
รูปที่ 9 กิจกรรมรับขวัญบัณฑิต
รูปที่ 10 พิธีมอบใบประกาศนีบัตรหลักสูตร Non degree ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่
รูปที่ 11 กิจกรรม "Super Resume"
รูปที่ 12 กิจกรรม CMU Open House Online 2022
รูปที่ 13 Science CMU Job Fair Online 2022
4. กลับสู่การเรียนการสอนแบบ Onsite
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลาย การเรียนการสอนในคณะวิทยาศาสตร์ได้กลับเข้าสู่สภาวะเดิมคือแบบonsite 100% นักศึกษาและอาจารย์ของคณะมีความพร้อมในการปรับตัวด้านต่างๆ ทั้งด้านการเรียนการสอน การบริหารเวลา และการทำงานเป็นหมู่คณะหรือการทำงานกลุ่ม เป็นต้น มีการจัดกิจกรรมโครงการเสริมทักษะต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาเพิ่มเติมเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และชดเชยทักษะทั้งเชิงปฏิบัติการ และทักษะชีวิต ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้หรือเรียนรู้ไม่ครบถ้วนอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
จากการถอดบทเรียนของสถานการณ์โควิด-19 คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ว่า การจัดการเรียนการสอนนั้นสามารถจะยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์โดยใช้งานเครื่องมือที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบonsite แต่ในกรณีที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักศึกษา ผู้สอนยังคงสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Hybrid เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนแบบออนไลน์ให้แก่นักศึกษาที่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถจะเข้าเรียนแบบออนไซต์ได้ หรือสามารถจะบันทึกหน้าจอการเรียนการสอนแบบออนไซต์เพื่อให้นักศึกษาที่ได้เข้าเรียนแล้วใช้ทบทวนบทเรียนซ้ำหรือให้นักศึกษาที่พลาดการเข้าเรียนใช้เรียนย้อนหลังได้
ในด้านการจัดสอบ จากเดิมที่ต้องจัดสอบแบบonsiteโดยใช้ข้อสอบแบบกระดาษ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้เรียนรู้เครื่องมือที่จะจัดการข้อสอบที่รองรับข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัยในรูปแบบต่าง ๆ เรียนรู้ถึงการดำเนินการสอบแบบออนไลน์ที่รองรับผู้สอบพร้อมกันจำนวนมาก เรียนรู้การบริหารการสอบ รวมถึงแนวทางการลดการทุจริตในการสอบแบบออนไลน์ ทำให้อาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์สามารถปรับตัวเข้ากับการจัดการเรียนการสอนในทุกๆ สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต จนทุกวันนี้ การสอนหรือประชุมออนไลน์จากที่เคยเรื่องพิเศษในช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากนั้นถือว่าเรื่องปกติ โดยการประชุมหรือการเรียนการสอนอออนไลน์ อาจจะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องการความสะดวกหรือ ภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม ห้องเรียนไม่พร้อม ถึงแม้จะทำการสอนในห่องเรียนปกติไม่ได้ เราก็สามารถทำการสอนแบบออนไลน์ได้ในทันที หรือการทำเอกสารต่าง ๆ ก็ยืดหยุ่นขึ้นมาก เป็นสัญญาณที่ดีในการปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคออนไลน์ได้ในช่วงเวลาอันสั้น หากไม่มีเหตุการณ์นี้ อาจต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเปลี่ยนแปลง การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจึงเป็นสิ่งที่ดีจริง ๆ