“รำลึกถึง ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ 60 ปี มช.”
โดย อรรณพ วราอัศวปติ
บันทึกที่ 1 ปูชนียบุคคล ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช.
เนื่องจากเป็นศิษย์เก่าชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. รุ่นแรก (มช.07) และหลังจบการศึกษาก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา จึงขอเล่าถึงความประทับใจที่เกี่ยวกับชีววิทยา ในช่วงแรกๆ ของ มช. โดยเน้นที่ปูชนียบุคคลผู้วางรากฐานภาคชีววิทยา มช. 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร. พาณี เชี่ยววานิช และ Dr.P.A.Bradbeer ดังที่ปรากฏอยู่ที่ใน หอประวัติคณะวิทยาศาสตร์ (HALL OF FAME) ดังภาพข้างล่าง
สำหรับความประทับใจต่อศาสตราจารย์ ดร.พาณี เชียววานิช ที่ทำหน้าที่หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2507 มากกว่า 10 ปี เป็นปูชนียบุคคลผู้วางรากฐานภาควิชาชีววิทยานั้น ผมเคยเขียนบันทึกไว้แล้วในวาระศาสตราจารย์ ดร.พาณี เชี่ยววานิช เกษียณอายุราชการ เมื่อ ปี พ.ศ. 2534 ในหนังสือที่ระลึก “60 ปี ศาสตราจารย์พาณี เชี่ยววานิช” ที่มีการทำเป็น e-books โดยคณาจารย์ปัจจุบันของภาควิชาชีววิทยา มช. พร้อมหนังสือภาพในวาระ “กตัญญุตา มุฑิตาจิต 90 ปี ศ.ดร.พาณี เชี่ยววานิช” ในปี พ.ศ. 2564 ที่สามารถไปอ่านดูได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้
60 ปี ศาสตราจารย์ พาณี เชี่ยววานิช
กตัญญุตา มุฑิตาจิต 90 ปี ศ.ดร.พาณี เชี่ยววานิช
(รูปช้าย) ผมถ่ายภาพกับอาจารย์พาณี ช่วงรับปริญญาตรี 16 มกราคม 2512 (รูปขวา) ภาพอาจารย์ ชีววิทยา 5 ท่าน กับ นักศึกษาสังกัดวิชาเอก ชีววิทยา มช. คนแรก ปี 2508
ผมขอนำข้อเขียน มาบันทึกไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง
“เพื่อความสะดวกและเป็นไปตามที่พวกเราชาวชีววิทยาทุกท่านคุ้นเคย ต่อไปนี้ผมจะขอใช้คำว่าอาจารย์พาณี หรืออาจารย์ เฉย ๆ แทนการเรียกอย่างเต็มตามคุณวุฒิ
อาจารย์พาณี เป็นผู้วางรากฐานอันมั่นคงให้แก่หลักสูตรสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคนแรกเป็นเวลานานติดต่อกันกว่า 10 ปี ตั้งแต่เปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2507 เป็นต้นมา ผมอาจจะโชคดีกว่าอีกหลาย ๆ คน ที่ได้มีโอกาส เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาแล้ว ก็ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาชีววิทยา ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ และหลังจากไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกกลับมา ก็ได้มีโอกาสร่วมงาน และได้ไปช่วยงานอาจารย์อีก ในสมัยที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
ภาควิชาชีววิทยาในระยะแรกนั้นมีอาจารย์สังกัดในภาควิชาเพียง 4 ท่าน คือ อาจารย์พาณี อาจารย์อู่แก้ว อาจารย์สมร และอาจารย์จงจินต์ และมีอาจารย์ ชาวต่างประเทศอีก 2 ท่าน คือ Dr. Philip A. Bradbeer และ Dr. Patricia Bradbeer ซึ่งเป็นภรรยา การเรียนการสอนจึงมีความใกล้ชิดกันมากทั้งระหว่างอาจารย์ด้วยกันเอง และระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ผมยังมีความประทับใจและจดจำถึงบรรยากาศเก่า ๆ ในสมัยที่เรียนวิชาชีววิทยา โดยเฉพาะวิชานิเวศน์วิทยากับคณาจารย์และเพื่อน ๆ ในสมัยนั้น ที่เราได้ออกไปเรียนจากธรรมชาติจริง ๆ โดยไม่ต้องออกไปไกล อาจารย์ได้ปลูกฝังแนวคิดเรื่องของความสมดุลย์ตามธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้เน้นถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม
อาจารย์ได้ปลูกฝังให้มองวิชาชีววิทยา (Biology) อย่างกว้างไกล ในลักษณะของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Science) ซึ่งเป็นสาขาของ วิทยาศาสตร์ที่มีความซับซ้อน และผูกพันกับเรามาก เนื่องจากมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งในระบบของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการศึกษาทางชีววิทยา ในขณะที่วิทยาศาสตร์อีกสาขาหนึ่ง คือ วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) มีลักษณะและธรรมชาติของการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากชีววิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวของสิ่งมีชิวิต และรวมถึงความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต จึงเป็นสาขาวิชาที่มีความกว้าง และหลากหลายมาก
การแบ่งสาขาวิชาชีววิทยาจึงมีแนวทางการแบ่งเพื่อให้สามารถศึกษา เรียนรู้ ทำการสอน และทำการวิจัยได้ง่ายเข้าเป็นหลายอย่างด้วยกัน เช่น แบ่งตาม กลุ่มสิ่งมีชีวิต เป็นแขนงวิชา พฤกษศาสตร์ (Botany) สัตววิทยา (Zoology) และจุลชีววิทยา (Microbiology) เป็นต้น ในบางครั้งก็จะแบ่งตามลักษณะวิธีการ หรือแนวที่เน้นศึกษาเป็นหลักเป็นแขนงวิชา สัณฐานวิทยา (Morphology) สรีรวิทยา (Physiology) พันธุศาสตร์ (Genetics) อนุกรมวิธาน (Taxonomy) และนิเวศวิทยา (Ecology) เป็นต้น เมื่อใครศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากขึ้น ก็มักจะศึกษาในแนวลึกและแคบลง จึงมีการแบ่งเรียกย่อยลงไปอีกโดยเอาแนวการแบ่งมากกว่าแนวเดียวมาเป็นหลัก เช่น ศึกษาเน้นเรื่องระบบการทํางานของสิ่งมีชีวิตกลุ่มพืช ที่เรียกว่า วิชาพฤกษ์สรีรวิทยา หรือสรีรวิทยาของพืช (Plant Physiology) หรือศึกษาเน้นทางความสัมพันธ์ระว่างสัตว์กับสิ่งแวดล้อม ก็เรียกนิเวศน์วิทยาสัตว์ (Animal Ecology) เป็นต้น
ชื่อสาขาวิชา หรือแขนงวิชาก็มีการพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เสมอ เมื่อนักชีววิทยาสนใจศึกษารายละเอียดของสิ่งมีชีวิตมากขึ้นจนถึงระดับโมเลกุล และนักเคมีก็มาสนใจเน้นศึกษาโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น จนกลายเป็นสาขาวิชาใหม่ขึ้นคือ ชีวเคมี (Biochemistry) การศึกษาได้ลงลึกต่อไปอีกจนถึงระดับอะตอมของสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถของนักฟิสิกส์ จึงเกิดสาขาชีวฟิสิกส์ (Biophysics) ขึ้น ในอีกทางหนึ่งเมื่อมนุษย์เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเราสามารถนำเอาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเรา ทั้งที่เรายังไม่สามารถรู้ได้หมดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นทําให้เกิดสิ่งที่เราต้องการได้อย่างไร ก็มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยหาวิธีดัดแปลงหรือทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อเรามากขึ้น ในปัจจุบันจึงมีสิ่งที่เรียกกันว่า เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เกิดขึ้น และการศึกษาค้นคว้ากำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อมนุษย์เราเริ่มเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็ทำให้เห็นความสำคัญของการรักษาความสมดุลย์ทางธรรมชาติ หรือระบบนิเวศน์มากขึ้น มีการรณรงค์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นทุกระดับ ทั้งในประเทศไทยเองและในต่างประเทศ ชื่อของวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Science) ตามหลักการทางชีววิทยาที่เรารู้จักกันดีคือ วิวัฒนาการ (Evolution) การเปลี่ยนแปลงยังคงจะต้องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
อาจารย์พาณี เป็นผู้หนึ่งในกลุ่มแรกของอาจารย์ในประเทศไทย ที่ได้นำเอาระบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ (Inquiry) เข้ามาใช้ และได้ร่วมเป็นคณะผู้ร่างหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทย ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า หลักสูตร สสวท. อาจารย์กับคณะได้เดินทางไปดูงานด้านหลักสูตรในประเทศต่าง ๆ รอบโลก ในช่วงที่ผมกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อาจารย์กรุณาแวะไปเยี่ยมผมด้วย ซึ่งทำให้ผมดีใจและมีกำลังใจในการศึกษามากขึ้น อาจารย์ได้แปล และเรียบเรียงหนังสือชื่อ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เล่ม 1 ซึ่งสนับสนุนการจัดพิมพ์และจำหน่ายโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไท ในปี พ.ศ. 2516 หนังสือเล่มนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือชีววิทยาเล่มแรก ที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อการเรียนการสอนตามแนวคิดใหม่ คือ การเรียนการสอน แบบสืบเสาะ ที่ใช้เป็นหลักในหลักสูตรของ สสวท. มาจนถึงปัจจุบัน หนังสือตำรา ชีววิทยา เล่มแรก ตามโครงการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัย ของทบวงมหาวิทยาลัย ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 นั้นอาจารย์พาณีก็เป็นคณะกรรมการและผู้เขียนผู้หนึ่งด้วย จึงทำให้คณาจารย์หลายท่านในภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมเขียนตำราชีววิทยาเล่มแรกนี้ด้วยอีกหลายท่าน
การเรียนการสอนแบบสืบเสาะ ในทัศนะของผมคิดว่า เป็นการเรียนการสอนที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง ที่ทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้ฝึกทักษะขบวนการทาง วิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีความละเอียดรอบคอบในการสังเกต การจัดระเบียบข้อมูล เพื่อนำไปสู่การสร้างสมมติฐาน การทดลองหรือทดสอบและการสรุปที่ดี ซึ่งบางครั้งก็เรียกกันว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อาจจะทำให้หลายคนคิดว่า เป็นวิธีการเฉพาะ สำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาวิจัย แต่แท้ที่จริงแล้ว คนเราทุกคนเคยใช้ และสามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ว่านั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์
ถ้าจะประมวลวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องที่ดูง่ายเข้า จะกล่าวได้ว่า การเรียนรู้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นการตอบคำถามสั้น ๆ และคุ้นเคยกันอยู่แทบทุกวัน 4-5 คำ คือ อะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? ทำไม? และ อย่างไร ? (What? Where? When? Why? and How?) นั่นเองเราทุกคนคงมีคำถามเหล่านี้แทบทุกวัน แต่คนทั่วไปอาจจะใช้คำถามเหล่านี้ ไม่ค่อยสม่ำเสมอและเป็นระบบ เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นเอง ทำให้ข้อสรุปมีโอกาสพลาดได้มากกว่านักวิทยาศาสตร์ การเรียนแบบสืบเสาะมีส่วนช่วยผมได้มาก ในตอนที่ผมไปศึกษาต่อระดับ ปริญญาโทและเอกที่ต่างประเทศ ในแขนงวิชาที่แคบลง คือ สรีรวิทยาของพืช เนื่องจากต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมาก เพราะการศึกษาขั้นหลังปริญญาตรี ในระบบของประเทศอังกฤษ มีการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามรูปแบบปกติค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับระบบของประเทศสหรัฐอเมริกา การศึกษาค้นคว้าและวิจัยด้วยตนเองนั้น ใช้การเรียนแบบสืบเสาะได้อย่างดียิ่ง ทำให้ผมสามารถศึกษาสำเร็จได้ในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว
การเรียนแบบสืบเสาะ (Inquiry learning) ได้มามีส่วนช่วยผมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากกลับมาทำงานที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ระยะหนึ่ง ก็มีเหตุทำให้ผมต้องก้าวเข้าไปค้นคว้าวิจัยและทำการสอนในแขนงวิชา ก็ไม่เคยศึกษาเล่าเรียนในระดับลึกมาก่อนเลย คือ ด้านสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest physiology) ที่เป็นแขนงวิชาที่ว่าด้วยการทำงานหรือการเปลี่ยนแปลง หลังจากเก็บเกี่ยวผลิตผลมาแล้ว แต่โดยอาศัยพื้นฐานจากวิชาสรีรวิทยาพืชที่ทำอยู่ ประกอบกับการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการเรียนแบบสืบเสาะ ก็ทำให้แก้ไขปัญหาไปได้ จนกระทั่งสามารถทำการวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในแขนงนี้ได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับทุนและเครื่องมือสนับสนุนจากต่างประเทศ ไม่น้อย จนกลายมาเป็นห้องปฏิบัติการวิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest Technology Research Laboratory) ในปัจจุบัน ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อหาวิธีหรือเทคนิคเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และรักษาคุณภาพผลิตผลทางการเกษตรให้ดีอยู่ได้นานที่สุด สำหรับการบริโภคได้ตลอดทั้งปี และเพื่อการส่งออก
แนวคิดในการเรียนการสอนและการทำงานที่ผมได้รับจากอาจารย์พาณี ตลอดระยะเวลาที่ผมเริ่มมามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมทำงานกับ ท่านอาจารย์นั้น ผมได้นำมาใช้ประโยชน์กับตนเอง และพยายามสืบทอดต่อไปยังรุ่นต่อ ๆ มาเท่าที่โอกาส และสติปัญญาจะอำนวย และยังคงจะได้ใช้ต่อไปเรื่อย ๆ หลังจากที่อาจารย์เกษียณอายุราชการแล้ว ผมคิดว่าอาจารย์ยังคงยินดีที่จะมาให้ความรู้และคำปรึกษาแก่พวกเราอีกต่อไปอย่างแน่นอน
ด้วยความเคารพ
จากศิษย์ ดร. อรรณพ วราอัศวปติ มิถุนายน 2534
สำหรับความประทับใจ ที่มีต่อ Dr.P.A.Bradbeer ปูชนียบุคคลผู้วางรากฐานภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. อีกท่าน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาจากประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปีแรกของการเปิด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2507 พร้อมกับภรรยาของท่าน Dr. Patricia Bradbeer แม้ว่าท่านจะมาอยู่ช่วยงานให้ มช. เพียง 5-6 ปี แต่ท่านก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการวางรากฐานให้แก่ภาควิชาชีววิทยา จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นปูชนียบุคคลผู้วางรากฐานภาควิชาชีววิทยา คู่กับ ศาสตราจารย์ ดร.พาณี เชี่ยววานิช ในหอประวัติ คณะวิทยาศาสตร์ มช. นอกจากนั้น Dr.Bradbeer ยังได้รับการประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นปูชนียบุคคล ผู้ให้การสนับสนุนคณะวิทยาศาสตร์ คู่กับ Dr. A.F.Gaines อีกด้วย
สำหรับความประทับใจของผม และนักศึกชีววิทยา อาจารย์ และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ รุ่นแรกๆ ต่อ อาจารย์แบรดเบียร์ ทำให้นักศึกษารุ่นแรกๆ จำนวนมากเรียกอาจารย์ว่า “อาจารย์พ่อ” คล้าย กับเรียก อาจารย์พาณีว่า “อาจารย์แม่” เพราะการดูแลเอาใจใส่ แนะนำกันอย่างใกล้ชิด สนิทสนม เหมือน ดังพ่อแม่ดูแลลูก อาจารย์แบรดเบียร์ให้ความเป็นกันเองกับทั้งอาจารย์และนักศึกษาอย่างมาก โดยชวนไปพบปะสังสรรค์กันที่บ้านพักของอาจารย์ที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ เป็นประจำ พร้อมเชิญเพื่อนๆ ทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ มาร่วมสังสรรค์ด้วย ทำให้นักศึกษาได้ฝึกการพูดภาษาอังกฤษ และการเล่นกีฬาต่างๆ ไปด้วยในการไปร่วมงานที่บ้านอาจารย์ โดยอาจารย์แบรดเบียร์บริการขับรถมารับมาส่งนักศึกษาจาก มช. อีกด้วย เพราะในสมัยนั้น มช. กับบ้านพักในเมืองของอาจารย์ที่อยู่ตรงข้ามกับ โรงเรียนปริ้นรอยล์ ถือว่าไกลกันพอสมควร ในเวลาการคืนจะหารถในเดินทางกลับค่อนข้างยาก
Dr. Bradbeer กับรถที่ใช้รับส่งพวกเราที่หน้าบ้านพักของอาจารย์ (ภาพจาก www.philbrads.com)
อาจารย์แบรดเบียร์ เป็นคนชอบเล่นกีฬาและชอบถ่ายรูป โดยมีทั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งและกล้องถ่ายวีดิโอ ซึ่งในสมัยเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน มีผู้ที่มีกันไม่มาก อาจารย์ได้ถ่ายภาพไว้จำนวนมากทั้ง ภาพนิ่งและวีดิโอ ตลอดระยะเวลาที่อาจารย์มาอยู่ที่เชียงใหม่ และหลังจากอาจารย์เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2513 แล้ว อาจารย์ก็ยังเดินทางกลับมาเยี่ยม มช. เชียงใหม่ อีกหลายครั้ง
ภาพผมและครอบครัวพา อ.แบรดเบียร์ พร้อมเพื่อนที่กลับมาเยี่ยมเชียงใหม่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2535 ไป สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ในวาระครบ 50 ปี มช. อาจารย์แบรดเบียร์ ได้รวบรวมตัดต่อวีดิโอที่เกี่ยวข้องกับ มช. เขียนใส่แผ่นซีดี ส่งมาให้มหาวิทยาลัย ผ่าน อ.ดร.อู่แก้ว ซึ่งต่อมาผมได้รับสำเนาจาก อ.อู่แก้ว จึงนำมาตัดต่อใหม่พร้อมใส่คำบรรยายและเพลงประกอบ นำเสนอไว้ บน Youtube เป็น 4 ตอน ตามที่บันทึกไว้ที่นี่
ในวาระครบ 54 ปี การเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิมพ์ข่าวสารของมหาวิทยาลัย ในชื่อ "ทองกวาว" เป็นปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 ได้นำเสนอความเป็นมาของ มช. ไว้ในฉบับนี้ ในบทความ จากก้าวแรก สู่ปีที่ ๕๔ ของมหาวิทยาลัยร่มแดนช้าง ไว้ในข่าวแรกของเล่ม และในหน้าที่ ๒๐-๒๑ จะเป็นบันทึกย้อนรอย มช. ที่นำบันทึกของผมเกี่ยวกับความเป็นมาของวีดิโอของ ดร.แบรดเบียร์ นี้มาใส่ไว้ด้วย ตามภาพ
สำหรับภาพนิ่งต่างๆ ที่อาจารย์แบรดเบียร์ถ่ายไว้ ตลอดระยะเวลาที่มาอยู่ที่เชียงใหม่ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2507 - 2513 ที่มีคุณค่าไม่น้อย ลูกชายของอาจารย์ได้รวบรวมนำเสนอไว้บนเว็บไซต์ www.philbrads.com เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ Dr.Bradbeer ที่ได้จากพวกเราไปแล้วในปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ท่านที่สนใจ ยังสามารถเข้าไปดูได้ในปัจจุบัน
สำหรับผมเอง ได้เขียนรำลึกถึงอาจารย์แบรดเบียร์ไว้ที่ Gotoknow เมื่อวันครู 16 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เมื่อทราบข่าวว่า อาจารย์ได้จากพวกเราไปแล้ว
รูปถ่ายผมกับ Dr. Patricia Bradbeer และ Dr.P.A. Bradbeer ช่วงรับปริญญาตรี 16 มกราคม 2512