PAY IT FORWARD V Part 1
วันนี้ เมื่อ 50 ปีก่อน คือวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 เป็นวันแรกที่ทำหน้าที่อาจารย์ตรี ที่ภาควิชาเคมี มช. นั่นคือ ผมได้ทำงาน ที่ภาควิชาเคมี มช. มา 50 ปี เมื่อ มช.ครบ 60 ปี และผมเองมีอายุ 70 ปี ( 50...60...70 !!!)
ผมเริ่มทำงานพร้อมกับอาจารย์เกรียงศักดิ์ ไชยโรจน์ ในวันเดียวกัน หลังจากเราทั้งสองที่เรียนจบ วท.บ.(เคมี) จากที่นี่ มาได้ไม่กี่วัน ในการรับสมัครครั้งนั้นมีการสอบการคัดเลือกโดยเป็นการสอบสัมภาษณ์ โดยให้มีการสอนให้ท่านกรรมการดูด้วย คณะกรรมการได้แก่ ท่านอาจารย์อาจินต์ จินตนุกูล ท่านอาจารย์พิมล เรียนวัฒนา และท่านอาจารย์วิจิตร รัตนพานี ท่านอาจารย์อุดม ศรีโยธา เป็นหัวหน้าภาควิชาเคมีในขณะนั้นได้ให้ความเห็นชอบ
เคยตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า คิดอาจหาญอย่างไร จึงกล้าสมัครเป็นอาจารย์ ทั้งที่จบการเรียนด้วยคะแนนเฉลี่ยไม่สูง ก่อนการประกาศผลการสอบครั้งนี้ ผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์หมอผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้กรุณาชักชวนผมไปทำงานในตำแหน่งอาจารย์ตรี ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มช. ด้วยเช่นกัน อาจด้วยความคุ้นเคยที่ภาควิชาเคมี ผมได้ตัดสินใจอยู่ที่ ภาควิชาเคมี
ผมระลึกเสมอในความกรุณาของท่านอาจารย์คณะกรรมหารที่ให้โอกาสในการทำงานที่ภาควิชาเคมีเสมอ ในคราวที่ผมได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบคัดเลือกผู้สมัครเข้ามาเป็นทำงานเป็น อาจารย์ และในตำแหน่งต่างๆ (ไม่ต่ำกว่า10 ตำแหน่ง) จึงได้พิจารณาในมิติต่างๆ ประกอบด้วยเสมอ....ทั้งนี้ ได้ประสบการณ์จากท่านอาจารย์ กรรมการ ที่เคยให้โอกาสผม ผมได้ดำเนินการ Pay it forward และผู้ที่ได้รับโอกาสจากผม จะดำเนินการ Pay it forward ต่อๆไป ! !
มาถึงวันนี้มีความรู้สึกดีใจที่ไม่ได้ทำให้ท่านอาจารย์ที่เป็นกรรมการสอบรับผมเข้ามาทำงานในการตัดสินใจ……... จากที่ผมได้รับโอกาสฟนั้น.. และท่านให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผมมีโอกาสได้ศึกษาต่อ (มีเรื่องเล่าได้อีกมากมาย ในความกรุณาที่ผมได้รับ) ในการทำงาน ที่ภาควิชาเคมี มช. ทำให้มีโอกาสได้รับเกียรติจากองค์กรต่างๆ ได้ริเริ่มในการให้นักศึกษาปริญญาเอกได้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยทีต่างประเทศ โดยหลักการ แนวคิดเดียวกัน แต่เกิดดำเนินการก่อนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) ของ สกว. จะขออนุญาตเล่า Pay it forward ที่เกี่ยวกับเลข 20 และ 40 ในตอน /โอกาสต่อไป ครับ
PAY IT FORWARD V: 20, 40, 50, 60 และ 70 ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับผม
Part 2 : ยังเกี่ยวกับตัวเลข 50, 60, 70 ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง เลข 50, 60 และ 70 ที่เกี่ยวข้องกับผม ซึ่งเป็น 50 ปี ที่เป็นอาจารย์เคมี มช. ในปีที่ มช. ฉลอง 60 ปี ของการก่อตั้ง ในขณะที่มีอายุ 70 ปี และในตอนที่แล้ว ได้กล่าวความถึงตอนบรรจุ (15 พฤษภาคม 2517 เป็นวันแรกที่ทำหน้าที่อาจาย์ตรี ทดลองปฏิบัติงาน ช่วงเวลาหนึ่ง เปลี่ยนสถานะเป็นอาจารย์ประจำ ตามคำสั่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ได้มีข้อสังเกตให้ผมว่า ด้วยระยะเวลาการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่อง (ข้าราชการและพนักงานฯ) เป็นเวลา 50 ปี นี้ น่าจะเป็นสถิตินานที่สุดของบุคคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และใน Part 2 นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องราวที่เมื่อได้เริ่มปฏิบัติงานโดยคุมปฎิบัติการ และสอนบรรยายบางส่วน ตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ และเมื่อได้มีโอกาสเรียนต่อ ทำให้เริ่มมีแนวคิดในการทำงานวิจัยในแนวทางที่อาจต่างไปจากคนอื่นๆ และได้มีโอกาสเรียนรู้จากท่านที่มีประสบการณ์หลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาการวิจัยที่เกี่ยวพันกับการเรียน การสอน การบริการวิชาการ และเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนเกิดผลงานทางวิชาการอันเป็นอัตลักษณ์ และผลงานได้รับรู้ในคุณค่าโดยองค์กร ต่างๆ อาทิ Alexander von Humboldt Research Fellow (Alexander von Humboldt Foundation) ปี 2534 / เมธีวิจัย สกว . รุ่นที่ 1 ปี 2538 / นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี-เภสัช ปี 2542 จาก สภาวิจัยแห่งชาติ / นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2542 จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2544 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (เป็นคนแรกที่อยู่นอกกรุงเทพฯ) / เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2544-2546 และ 2547-2550 (ได้รับ 2 ครั้งๆ ละ 3 ปี) / Science & Technology Research Grant ปี 2544 จาก Thailand Toray Science Foundation / JAFIA Scientific Award” (พ.ศ. 2545) จาก The Japanese Association for Flow Injection Analysis (JAFIA) ประเทศญี่ปุ่น (นับเป็นชาวเอเชียคนแรก (ยกเว้นชาวญี่ปุ่น) ที่ได้รับรางวัลนี้) / บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ด้านเคมีวิเคราะห์) ปี พ.ศ. 2547 จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ / นักวิจัยดีเด่น รางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ช้างทองคำ” ปี พ.ศ. 2550 จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / JAFIA Honor Award for Science (พ.ศ. 2551) จาก Japanese Association for Flow Injection Analysis (นับเป็นชาวเอเชียคนแรก (ยกเว้นชาวญี่ปุ่น) ที่ได้รับรางวัลนี้) / 2008 CST Award for Distinguished Chemist (พ.ศ. 2551) Chemical Society of Thailand (CST) สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ (เป็นปีแรกของการมอบรางวัลนี้ จึงเป็นนักเคมีคนแรกของประเทศที่ได้รับรางวัลนี้) / ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว พ.ศ. 2560 (เป็นคนแรก ของ มช. ในทางวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี ในปีเดียวกับ ศาสตราจารย์ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ซึ่งเป็นท่านแรกทางสังคม-มนุษยศาสตร์ของ มช.) / ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก “World’s Top 2% Scientists” โดย Stanford University ตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) ถึงปัจจุบัน
การได้รับบางรางวัลมีผลต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างไม่คาดคิด โดยท่านอธิการนิพนธ์ ตุวานนท์ ได้บอกผมว่า ตอนท่านไปชี้แจงงบประมาณของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับงบประมาณ ในปีถัดไปจากที่ผมได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นนั้น ท่านได้กล่าวกับกรรมาธิการฯ ถึงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีที่ผ่านมา มีอาจารย์ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้รับรางวัลอยู่ในมหาวิทยาลัยนอกกรุงเทพฯ ท่านอธิการบดีนิพนธ์ บอกว่า หลังจากนั้นไม่มีคำถามใดๆ อีก และไม่มีการตัด และได้งบประมาณตามที่ตั้งขอไป