1. รับน้องรถไฟ
การต้อนรับที่อบอุ่นของรุ่นพี่ อาจารย์ และศิษย์เก่าเริ่มต้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นความทรงจำแรกของการเข้ามาเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่ ๆ จะรวมกลุ่มน้อง ๆ แยกไปตามคณะ คณะวิทยาศาสตร์มีจำนวนคนค่อนข้างเยอะ ในบางปีต้องเหมาโบกี้เลย เมื่อขึ้นมาบนรถไฟแล้ว เสียงเพลงจากพี่ ๆ และเสียงหัวเราะสนุกสนานของทั้งรุ่นพี่และน้องใหม่ดังกึกก้องบนรถไฟขบวนพิเศษที่พาพวกเราจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ ระหว่างทางมีกิจกรรมมากมาย การเดินทางครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยในรั้วมหาวิทยาลัย ฉันได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่มากมาย และความตื่นเต้นในการเริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
2. วันแรกพบ
วันที่เราได้ก้าวเข้าสู่รั้วคณะวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ ฉันยังจำความรู้สึกตื่นเต้นและประหม่าในวันนั้นได้ดี การได้พบกับอาจารย์และรุ่นพี่ ทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัววิทยาศาสตร์ พี่ ๆ จะพาน้อง ๆ ทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงเช้า และจากนั้นจะเดินแถวพาน้อง ๆ ไปส่งถึงหอพัก
3. ค่ายรับน้องที่ขุนช่างเคี่ยน โรงเรียนศรีเนรูห์
ค่ายนี้เป็นเหมือนบททดสอบแรกของความสามัคคีและมิตรภาพ กิจกรรมกลุ่ม ฐานต่าง ๆ และการแสดงรอบกองไฟ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน ฝ่าฟันอุปสรรค และสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้น การเดินบนสันเขาดอยสุเทพ-ปุยท่ามกลางหมอก เป็นบรรยากาศที่สดใสและตื่นตาตื่นใจสำหรับน้อง ๆ ที่ไม่คุ้ยเคยกับบรรยากาศบนยอดดอยแบบนี้ บางปีมีทั้งฝนทั้งลม และอากาศหนาวมาก ในระหว่างทางเดินตรงบริเวณที่มีความชันมาก ๆ พี่จะทำราวเชือกให้น้องไต่ขึ้นหรือลงและมีพี่ ๆ ประกบอยู่ด้วยตลอดเส้นทาง มิตรภาพระหว่างเพื่อน ๆ ซึ่งทุกคนเพิ่งรู้จักกัน จะได้ดูแลซึ่งกันและกันไปตลอดทาง เพื่อนกลุ่มนี้จึงเป็นเพื่อนกลุ่มแรก ๆ ที่สนิทกันมาก เราได้ทำกิจกรรมตามฐานต่าง ๆ ที่มีพี่ ๆ จากภาควิชาต่าง ๆ เป็นคนจัดกิจกรรมให้น้อง ๆ ได้เล่นอย่างสนุกสนาน บางปีในช่วงเวลากลางคืนที่บรรยากาศดี ฝนไม่ตก จะมีการแสดงรอบกองไฟของพี่ ๆ การนอนที่โรงเรียนบนยอดดอยอย่างโรงเรียนศรีเนรูห์ แม้อากาศจะหนาวมาก แต่ก็อบอุ่น (จนถึงร้อน) เพราะต้องนอนเบียดกันในห้องเรียน ส่วนพี่ ๆ จะนอนข้างนอก รอบกองไฟบ้าง แถวระเบียงบ้าง
4. เปิดห้องเชียร์
เชื่อว่าห้องเชียร์เป็นหนึ่งในสถานที่แห่งความทรงจำของหลาย ๆ คน วันเปิดห้องเชียร์ เป็นวันที่พวกเราได้รับมอบหนังสือเชียร์ (ยังมีใครเก็บไว้บ้างนะ) เสียงเพลงเชียร์ที่ดังกึกก้องไปทั่วห้อง เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นการฝึกฝนอย่างเข้มข้น ฉันได้เรียนรู้เพลงเชียร์และท่าเต้นต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาววิทยาศาสตร์ และด้วยคณะของเรามีหลายภาควิชา หลายสาขา ดังนั้น นอกจากห้องเชียร์จะเป็นที่ทำกิจกรรมแล้ว ยังเป็นสถานที่พบปะ นัดหมาย พูดคุยกับเพื่อนร่วมคณะจากภาควิชาต่างๆ อีกด้วย
5. เปิดสายรหัส
การได้พบกับพี่รหัสเป็นเหมือนการได้พบกับพี่น้องอีกคน พี่รหัสคอยให้คำแนะนำและสนับสนุนน้องในทุก ๆ เรื่อง (น่าจะยกเว้นเรื่องยืมเงิน) ทำให้น้องรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ในบางปีจำนวนน้องปี 1 มากกว่าพี่ปี 2 พี่ ๆ ก็ยินดีรับน้อง ๆ เป็นน้องเทค เพื่อไม่ให้น้องเหงา ส่วนปีที่จำนวนน้องน้อยกว่าพี่ น้อง ๆ บางคนก็โชคดี มีทั้งพี่รหัสและพี่เทค พี่น้องสายรหัสและสายเทคจะดูแลและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งตอนเรียนและจบการศึกษาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานขันโตก งานบายเนียร์ หรือในวันที่พี่ ๆ กลับมารับปริญญาเป็นบัณฑิตใหม่คณะวิทยาศาสตร์ จะมีการนัดพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำ และเมื่อศิษย์เก่าได้กลับมาร่วมกิจกรรมของคณะก็มักจะถามหาน้องรหัสอยู่เสมอ
6. เปิดโลกกิจกรรม
สีสันและความคึกคักของงานเปิดโลกกิจกรรมจะเป็นแรงดึงดูดให้น้อง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม ชมรมต่าง ๆ ต่างนำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจให้น้องได้เลือกเข้าร่วมชมรมที่ตรงกับความสนใจ และได้พบเพื่อนใหม่ที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน ชมรมในคณะมีทั้งชมรมส่งเสริมหลักสูตร ชมรมพัฒนาคุณภาพนักศึกษา และชมรมกีฬา ชมรมวิชาการ ชมรมอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ ชมรมถ่ายภาพ ชมรมดูนก ชมรมดาราศาสตร์ ชมรม ชมรมฟุตบอล ชมรมซอฟต์บอล ชมรมรักบี้ เป็นต้น น้อง ๆ ปี 1 ที่เป็นนักกีฬา จะถูกคัดเลือกไปแข่งขันกีฬาน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย จะถูกชักชวนให้เข้าชมรมอยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาก็สามารถเข้าชมรมไปร่วมกิจกรรมในหน้าที่อื่น ๆ ได้
7. ทำพาน วันไหว้ครู
การทำพานไหว้ครูเป็นโอกาสที่เราได้แสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์ พวกเราตั้งใจจัดทำพานไหว้ครูอย่างสวยงาม เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับความรู้และแรงบันดาลใจที่ท่านมอบให้ การทำพานไหว้ครูของน้องปี 1 ถือว่าเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่น้อง ๆ จะได้ทำร่วมกัน น้อง ๆ จะเลือกตัวแทนถือพานของคณะเพื่อไปเข้าร่วมพิธีไหว้ครูของมหาวิทยาลัย ความประทับใจในวันไหว้ครูคือ เป็นวันแรกของนักศึกษาปี 1 ที่จะได้ใส่ชุดพิธีการ ซึ่งน่าจะเป็นการใส่ครั้งเดียวในระหว่างการเรียนตลอด 4 ปี และจะมีโอกาสได้ใส่ชุดพิธีการอีกครั้งในวันรับปริญญา เป็นที่น่าเสียดายที่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้พิธีไหว้ครูของมหาวิทยาลัยได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ให้ตัวแทนนักศึกษาแต่ละคณะเข้าร่วมเท่านั้น
สำหรับพี่ปี 2 (ช่วงปี 2540-2546) ที่เพิ่งจะแยกเข้าภาควิชาต่างๆ และยังคงอยู่ในช่วงถูกรับน้องอย่างเข้มข้นในสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม การทำพานไหว้ครูจึงถือเป็นกิจกรรมแรกหลังจากแยกเข้าเรียนตามภาควิชาของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ได้ทำร่วมกันเช่นเดียวกัน และเพื่อนๆจะเลือกตัวแทนนักศึกษาเพื่อมาเข้าร่วมพิธีไหว้ครูที่คณะ
ไหว้ครูที่ภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม ในปี 2545
8. รับน้องขึ้นดอยสุเทพ
การเดินทางขึ้นดอยสุเทพเป็นความท้าทายที่ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความอดทน ความสามัคคี และการช่วยเหลือกันและกันระหว่างทาง ทำให้พวกเรารู้สึกผูกพันกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมรับน้องขึ้นดอย เป็นกิจกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิทยาศาสตร์ เป็น 1 ใน 5 คณะแรกที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัย สมัยนั้นนักศึกษาจะเดินขึ้นดอยรวมกันโดยไม่แบ่งแยกคณะเนื่องจากนักศึกษามีจำนวนน้อย ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การพาน้องปี 1 เดินขึ้นดอยสุเทพเพื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพนั้น ถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบหลักของสโมสรนักศึกษา และพี่ ๆ ปี 2 จากแต่ละภาควิชา โดยสโมสรนักศึกษาจะดูแลเรื่องสวัสดิการ อาหาร น้ำดื่ม ยา ส่วนพี่ ๆ ปี 2 ในแต่ละภาควิชา จะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันดูแลน้อง ๆ ปี 1 ตั้งแต่การแจกอาหาร น้ำ สันทนาการระหว่างพัก การปฐมพยาบาล และเดินแถวประกบน้องปี 1 ระหว่างขึ้นดอยสุเทพ ส่วนพี่ ๆ ปี 3-4 และศิษย์เก่าจะเดินให้กำลังใจอยู่ส่วนท้ายขบวน หรือเดินล่วงหน้าไปรอที่โค้งสปิริต ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย และการเดินขบวนทั้งหมดเป็นหน้าที่ของพี่ ๆ สตาฟวิ่ง ซึ่งน้อง ๆ จะได้เจอพี่สตาฟวิ่งตั้งแต่เริ่มกิจกรรมในคณะ พี่สตาฟวิ่งจะคอยพาน้อง ๆ ปี 1 ที่มีจำนวนมากเดินแถวไปตามที่ต่าง ๆ ลักษณะเฉพาะของพี่สตาฟวิ่งคือจะเสียงดัง ซึ่งในบางครั้งทำให้น้อง ๆ ตกใจได้ ตอนเดินขึ้นดอย พี่สตาฟวิ่งจะคอยเร่งน้อง ๆ ให้เดินไวหรือวิ่ง เพื่อให้ขบวนของคณะเราไม่ยาวมากนัก แต่ก็ยังคงยาวที่สุดในสมัยนั้น สำหรับความเป็นมาของพี่สตาฟวิ่ง ว่าเริ่มมีตั้งแต่สมัยไหนนั้นคงต้องสอบถามย้อนกลับไปให้พี่ ๆ ช่วยกันตอบ
เมื่อเดินถึงโค้งสปิริต พี่จะให้น้อง ๆ แสดงสปิริตโดยการบูม Science เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจกันก่อนที่จะวิ่งขึ้นโค้งสุดท้าย (พี่มักจะบอกน้องทุกปี) แต่ไม่ท้ายสุด ก่อนจะถึงบันไดขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ในช่วงนี้น้องผู้ชายและผู้หญิงจะเข้าแถวสลับกันเพื่อให้ช่วยพากันไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ ในช่วงนี้ พี่ ๆ และศิษย์เก่า จะมาช่วยกันเชียร์น้อง ๆ กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หลังจากที่น้อง ๆ ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพเรียบร้อยแล้ว น้อง ๆ จะมารวมกันที่ลานจอดรถของดอยสุเทพ (ในปี 2542-2546 ยังรวมกันที่ลานจอดรถ) เพื่อเริ่มการแสดงสปิริตต่าง ๆ ที่ได้ซ้อมกันไว้ก่อนขึ้นดอย และการแสดงสุดท้ายที่สำคัญคือการร้องเพลง “เกียรติศักดิ์วิทยา” ซึ่งการที่น้องได้ร้องเพลงนี้บนดอยถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงกันของรุ่น ซึ่งพี่ ๆ สตาฟเชียร์จะเป็นผู้พิจารณาว่าน้อง ๆ ผ่านการทดสอบหรือไม่ก่อนขึ้นดอยมาแสดงจริง
หลังจากน้อง ๆ แสดงสปิริตเสร็จแล้ว ถือว่าหมดหน้าที่ของพี่สตาฟวิ่ง พี่ ๆ จะถามหาอาสาสมัครน้อง ๆ ปี 1 ผู้ชายที่จะมาเป็นสตาฟวิ่งในรุ่นถัดไป และพาน้องที่สมัครใจเดินลงดอยพร้อมกับธงของคณะ ส่วนน้องปี 1 จะลงดอยโดยรถโดยสารที่คณะจัดเตรียมไว้กลับมาที่คณะ ส่วนพี่ ๆ ปี 2-4 นั้นจะรวมกลุ่มกันแล้วเดินลงดอยร่วมกันเป็นภาควิชา การเดินขึ้นดอยของเด็กไอซีในปี 2544 เดินทางขบวนน้องปี 1
9. ขันโตก
เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันในบรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมทั้งชมการแสดงสะท้อนวัฒนธรรมล้านนา หลังจากรับประทานอาหารแล้ว เราจะได้ชมการแสดงจากพี่ ๆ แต่ละภาควิชา เป็นช่วงเวลาที่อบอุ่น สนุกสนาน และจำได้ไม่เคยลืม
งานเลี้ยงขันโตกในปี 2544 ที่ศาลาอ่างแก้ว
10. การทำคัตเอาต์สำหรับสแตนด์เชียร์
ยังจำภาพสวยๆ ของสแตนด์เชียร์คณะวิทยาศาสตร์ในวันสปอร์ตเดย์ในแต่ละปีได้หรือไม่ การทำคัตเอาต์เปรียบเสมือนการระบายความคิดสร้างสรรค์ลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ เบื้องหลังของคัดเอาต์คือความสามัคคีที่ยิ่งใหญ่ ทุกฝ่ายต่างช่วยกันอย่างเต็มที่ ทั้งออกแบบ ซื้อของ ขึ้นโครง ลงสี จนถึงการแบกโครงสร้างขนาดใหญ่ไปไว้บนโครงเหล็ก เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามและทรงพลังสำหรับการเชียร์กีฬา และเชื่อเถอะคัตเอาต์ของคณะวิทยาศาสตร์ไม่เคยน้อยหน้าคณะไหนเลยนะ
ภาพคัตเอาท์สวย ๆ ที่เปรียบเสมือนการระบายความคิดสร้างสรรค์ลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลังสแตนด์เชียร์ของคณะวิทยาศาสตร์ในวันสปอร์ตเดย์ของแต่ละปี สะท้อนถึงความสามัคคีที่ยิ่งใหญ่ ความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายออกแบบ ฝ่ายจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ฝ่ายขึ้นโครงและลงสี ตลอดจนการช่วยกันติดตั้งโครงสร้างขนาดใหญ่บนโครงเหล็ก เพื่อสร้างคัตเอาต์ที่สวยงามและทรงพลังสำหรับการเชียร์กีฬา และเป็นที่ทราบกันดีในช่วงที่ยังมีการแข่งขันสปอร์ตเดย์ว่าสแตนเชียร์ของคณะวิทยาศาสตร์นั้นสวยงามและยิ่งใหญ่ไม่แพ้คณะอื่นๆเลย
11. Sport Day & Sport night, cheer show
สปอร์ตเดย์เป็นอีกกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ มช. เป็นวันที่ทุกคณะต่างแสดงสปิริตและเอกลักษณ์ของคณะตนเองให้ทุกคนได้เห็น การแข่งขันกีฬาและการแสดงเชียร์ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้พวกเราได้แสดงพลังแห่งความสามัคคีและความภาคภูมิใจในคณะ แต่เดิมสปอร์ตเดย์จะเริ่มด้วยการแสดงพาเหรด ที่ก็ไม่ใช่แค่เดินๆ ผ่านหน้าประธานนะ แต่เป็นการแสดงกลางสนาม จัดขบวนเป็นรูปร่างต่างๆ อย่างสวยงามและพร้อมเพรียง จากนั้นเมื่อนักกีฬาเริ่มแข่ง ก็จะได้เห็นภาพบนสแตนด์ที่เต็มไปด้วยสีสันและเสียงเชียร์ที่ดังกึกก้องตลอดทั้งวัน ช่วงเย็นๆ จะเป็นช่วงเวลาที่แต่ละคณะจะทำการแสดงอันสุดยอด เรียกว่าไคล์แม็กซ์ละ แต่ละคณะต่างก็งัดกลเม็ด สีสัน ความพร้อมเพรียง ที่จะนำเสนอไอเดียและความเป็นตัวตนให้คณะอื่นได้เห็น ภาพของคัทเอาท์ สแตนด์ เพลงเชียร์ ผู้นำเชียร์ นับเป็นภาพความทรงจำที่ยังคงสดใสอยู่ในใจฉันตลอดมา
สปอร์ตเดย์เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่อีกกิจกรรมหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การแข่งขันกีฬาและการแสดงเชียร์ที่ยิ่งใหญ่สะท้อนเอกลักษณ์และสปิริตของทั้งนักกีฬาและกองเชียร์จากทุกคณะ สปอร์ตเดย์ในยุคแรกๆเริ่มต้นด้วยการเดินขบวนพาเหรดและการแสดงกลางสนาม มีการแปรขบวนเป็นรูปร่างต่าง ๆ อย่างสวยงาม เมื่อการแข่งขันกีฬาเริ่มต้นขึ้น เสียงเชียร์และสีสันของการแสดงบนสแตนด์เชียร์ก็เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน ความสนุกสนานของการเชียร์นั้นยาวนานตลอดทั้งวัน เมื่อถึงช่วงเวลาเย็น แต่ละคณะจะทำการแสดงที่เรียกว่า ไคล์แมกซ์ เป็นการแสดงที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ สปิริต ความพร้อมเพรียง และความสามัคคี ให้คณะอื่น ๆ ได้ชม
นับเป็นอีกหนึ่งภาพความทรงจำที่ยังคงสดใสอยู่ในใจของหลายๆคนเสมอ
12. วันปิดห้องเชียร์
วันสุดท้ายของการเข้าห้องเชียร์ เป็นวันที่เต็มไปด้วยความรู้สึกหลากหลาย ทั้งความภาคภูมิใจ ความผูกพัน และความอาลัย การแสดงเชียร์ครั้งสุดท้ายเป็นการปิดฉากช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่แสนวิเศษ เพลงเทียนท่อนที่ร้องว่า “เปลวเทียนถึงการมอดดับ ลาลับไปจากเพื่อนผอง แต่ ณ ที่นี้เรืองรอง ขอเทียนน้องส่องทดแทน” เป็นเหมือนสัญลักษณ์การส่งต่อกิจกรรมและความรู้สึกดีๆ ของพวกเราชาวคณะวิทยาศาสตร์สู่น้อง ๆ รุ่นต่อไป
13. บายเนียร์
กิจกรรมสุดท้ายของปลายปีการศึกษาที่น้อง ๆ ชั้นปีที่ 1-3 จะจัดให้พี่ ๆ ปี 4 เป็นงานเดียวในคณะที่ทุกคนจะแต่งตัวหล่อสวยกันเต็มที่ พี่น้องสายรหัสจะได้แสดงความยินดีกับพี่ ๆ ที่กำลังจะจบการศึกษาเป็นบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์
บายเนียร์รุ่น 4205 ในปี 2545 น้อง ๆ จัดให้ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของกิจกรรมนักศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มในต้นปี 2563 ความรุนแรงของการระบาดเพิ่มมากขึ้น และเริ่มมีจำนวนนักศึกษาที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงคณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด มีการควบคุมจำนวนและรูปแบบการจัดกรรมของนักศึกษา ดำเนินการปรับกิจกรรมการอบรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนการเรียนการสอน และการสอบเป็นรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดจะต้องมีการแจ้งให้ทราบถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปี 2564 คณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานและช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรที่มีความเสี่ยงและติดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก มีหน้าที่ประสานงานรับ-ส่งนักศึกษาเข้ากักตัวในกรณีที่มีความเสี่ยง และส่งตัวนักศึกษาเข้ารับการรักษาหากพบการติดเชื้อ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้งคณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่า ทำให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี
• การจัดงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แบบออนไลน์
ในปี 2564 คณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการจัดงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการจัดงานใหญ่ในมิติใหม่ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาควิชา
• รับน้องขึ้นดอย
ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดนั้น กิจกรรมรับน้องขึ้นดอยซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นการส่งตัวแทนนักศึกษาและบุคลากรของแต่ละคณะขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพโดยรถยนต์ คณะวิทยาศาสตร์ได้ส่งนายกสโมสรนักศึกษา และผู้แทนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นตัวแทนคณะ ทำให้บรรยากาศขึ้นดอยในปีนั้นเงียบเหงา สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้น้อง ๆ รหัส 63, 64 และ 65 ไม่ได้ขึ้นดอยในขณะที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 กิจกรรมรับน้องขึ้นดอย เริ่มจัดกิจกรรมแบบปกติได้ในปี 2565 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565
รับน้องขึ้นดอยประจำปี 2563 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2563
รับน้องขึ้นดอยประจำปี 2564 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2564
• พิธีรับปริญญาแบบ New normal
ปี 2565 ปี 2565 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรถึง 2 ครั้ง คือในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 สำหรับบัณฑิต ม.ช. รุ่นที่ 55 และ ในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 สำหรับบัณฑิต ม.ช. รุ่นที่ 56 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รูปแบบการรับปริญญาก็จำเป็นจะต้องมีการปรับเพื่อลดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากในห้องประชุม โดยมหาวิทยาลัยติดตั้งเต็นท์หลังใหญ่สำหรับบัณฑิตที่รอเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรและบัณฑิตที่รับพระราชทานปริญญาบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยใช้รูปแบบการเวียนตำแหน่งที่นั่ง บัณฑิตที่กำลังจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจะเดินแถวเพื่อเข้าไปนั่งรอภายในหอประชุมและกลับออกมาที่เต็นท์เมื่อรับปริญญาบัตรเรียบร้อย บัณฑิตและกรรมการผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองและสวมหน้ากากอนามัยตลอดพิธีการ นับเป็นพิธีรับปริญญารูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมของนักศึกษาถูกจำกัดจำนวนให้มีจำนวนผู้ร่วมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้กิจกรรมส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดได้ในสถานที่ปกติ จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ เช่น กิจกรรมปฐมนิเทศน์ และประชุมผู้ปกครองของนักศึกษาใหม่รหัส 63 ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศน์แบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom และ Facebook live กิจกรรมออนไลน์นี้มีจนถึงปี 2564 และเริ่มกลับมาเป็นแบบปกติ new normal ในปี 2565
• การจัดกิจกรรมแบบ New normal
ทุกกิจกรรมที่จัดในช่วงปี 2563-2566 จะต้องมีมาตรการการจัดกิจกรรมแบบปกติใหม่หรือที่เรียกว่า new normal โดยจะต้องมีการตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม มีการใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เช่น กิจกรรมปัจฉิมนิเทศนักศึกษารหัส 61 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
• การหายไปของกิจกรรมในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 จำเป็นต้องงดกิจกรรมทั้งหมดที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รวมถึงกิจกรรมเชียร์ ส่งผลให้ชมรมเชียร์ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ ทำให้นักศึกษาในช่วงนั้นไม่มีประสบการณ์ในการเชียร์ จึงขาดการสานต่อกิจกรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากวิกฤตโรคระบาดผ่านไป กิจกรรมเข้าห้องเชียร์จึงหายไปด้วย แต่ยังคงมีชมรมผู้นำเชียร์ (เชียร์ลีดเดอร์) อยู่ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายชมรมที่หายไปเพราะนักศึกษาใหม่ที่เข้ามาในช่วงปี 2563-2566 นั้นไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม หลายกิจกรรมยังคงรูปแบบออนไลน์ ซึ่งนักศึกษาเริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบปกติใหม่ หรือ New normal เช่น การติวข้อสอบของชมรมวิชาการ