สารแสดงความยินดี

ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์

blog-image

 

คณะในระดับอุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมั่นคงยั่งยืนหรือไม่ ผมคิดว่าต้องมีอย่างน้อย 4 องค์ประกอบ
คือ มีอาจารย์ดี มีนักศึกษาดี มีบุคลากรฝ่ายสนับสนุนดี และมีศิษย์เก่าดี

 

   ผมเห็นว่าคณะของเราก็มีองค์ประกอบทั้งสี่อยู่อย่างครบถ้วน เรามีพลวัตของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนทุนที่มีทักษะความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นอาจารย์ ช่วยกันสร้างชื่อเสียงทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย เรามีนักศึกษาที่ดีที่มีคุณภาพเข้ามาศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง

แต่ก่อนคณะของเรามีหลักสูตรไม่มากเท่าปัจจุบัน ผมเข้ามาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2532 ขณะนั้นมีหลักสูตรปริญญาตรีให้เลือกเรียนอยู่ 10 หลักสูตร มีหลักสูตรปริญญาโทอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีหลักสูตรปริญญาเอก ต่อมา คณะก็เริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกหลักสูตรแรก คือ หลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาชีววิทยา และฟิสิกส์ ในปี พ.ศ.2531 ซึ่งช่วงนั้นผมก็โชคดีได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในปี พ.ศ. 2536 จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะของเราก็เริ่มเปิดสอนหลักสูตรใหม่ ๆ คือ หลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติสาขาวิชาดาราศาสตร์ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาวิทยาการข้อมูลในปี พ.ศ. 2562 หลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติหลักสูตรแรกของคณะ คือ หลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ. 2562 และหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาวิทยาศาสตร์นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2563 เพื่อผลิตมหาบัณฑิตร่วมกับภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบันนี้ คณะของเรามีจุดเด่นคือเป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่มีหลักสูตรหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีหลักสูตรปริญญาตรี 15 หลักสูตร หลักสูตรปริญญาโท 20 หลักสูตร และหลักสูตรปริญญาเอก 18 หลักสูตร โดยเกือบครึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ รวมถึงเรายังเริ่มมีงานการสื่อสารองค์กรที่เป็นระบบ คอยเผยแพร่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กรของเราไปยังภายนอก จุดประสงค์หลักก็เพื่อดึงดูดผู้เรียนดี ๆ ให้เข้ามาศึกษากับเราและเพิ่มโอกาสการได้งานทำของบัณฑิตของเราอีกด้วย

ในด้านการวิจัยและการศึกษาปัญหาพิเศษของนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีสูง เราก็มีบุคลากรฝ่ายสนับสนุนที่ดี โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะความรู้ความสามารถ ช่วยกันกับทางคณาจารย์ในการฝึกฝนนักศึกษาของเรา เราบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพเพื่อจัดหาเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ ผมจำได้ว่าเราเริ่มก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและบริการจุลทรรศนศาสตร์อิเล็กตรอน ขึ้นในปี พ.ศ. 2543 จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 6 นี้ เรามีเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงเพิ่มมากขึ้น จึงได้ก่อตั้งเป็น หน่วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2566 เราได้จัดตั้ง กองทุนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ (เดิมชื่อ กองทุนคณะวิทยาศาสตร์ 20 ปี เปลี่ยนชื่อเป็น กองทุนคณะวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2538 และเปลี่ยนชื่อเป็น กองทุนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2557) โดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการต่อยอดผลงานวิจัยของคณาจารย์

นอกจากนี้ เรายังมีศูนย์วิจัยในระดับคณะที่ทำหน้าที่รวบรวมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาต่าง ๆ มาผลักดันงานวิจัยแบบมุ่งเป้า ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2553 ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2560 (ปฏิรูปมาจาก ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการ ซึ่งก่อตั้งพร้อมกับ ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2553) และศูนย์วิจัยวิทยาการข้อมูล ก่อตั้งในลักษณะของโครงการจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2561 คณะของเราจึงสามารถรักษาระดับปริมาณและคุณภาพของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์ ให้อยู่ในระดับต้น ๆ ของประเทศมาโดยตลอด ได้รับการจัดอันดับในระดับนานาชาติ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับที่น่าพึงพอใจทั้งในเอเชียและทั่วโลก และเริ่มมีงานวิจัยของคณาจารย์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อันมีรากฐานมาจากงานวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในปี พ.ศ. 2567 นี้ คณะของเราก็มีอายุถึง 60 ปีแล้ว เรามีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานมากมาย เป็นกำลังสำคัญของชาติทั้งในภาคการผลิตและภาคการศึกษา หลายท่านเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กร และนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง ชมรมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งยกระดับเป็น สมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2554 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2565 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางสมาคมฯ ร่วมกับศิษย์เก่าของเรา ก็ได้เข้ามาช่วยทางคณะ ให้การแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดงานและเคล็ดลับต่างๆ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่พิเศษกว่าคณะอื่น ๆ เรายังมี ชมรมผู้เกษียณอายุงาน คณะวิทยาศาสตร์ (ชกว.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 คอยช่วยเหลือคณะริเริ่มและดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความผูกพันของผู้เกษียณและบุคลากรอีกด้วย

ในทศวรรษต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีภัยคุกคามทั้งในแง่ของการเข้าสู่สังคมสูงวัย การลดลงของผู้เรียนบัณฑิตศึกษาเนื่องจากความไม่สมดุลของตำแหน่งงานระดับปริญญาโท-เอกในภาครัฐและภาคเอกชนภายในประเทศ ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ผมยังมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยคุณภาพคนของเรา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะก้าวไปข้างหน้าในทศวรรษที่ 7 อย่างมั่นคงยั่งยืน เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตของจังหวัดเชียงใหม่อันสวยงามเปี่ยมวัฒนธรรมในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีแต่คนอยากจะเข้ามาศึกษาเล่าเรียน สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและพัฒนาวิชาการในระดับนานาชาติ สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

 

ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์